หน้าแรก news คิดไง? TDRI เสนอเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร ขณะที่ สนช.ชง พ.ร.บ.ข้าว หวังปฏิวัติวิถีชาวนา

คิดไง? TDRI เสนอเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร ขณะที่ สนช.ชง พ.ร.บ.ข้าว หวังปฏิวัติวิถีชาวนา

0
คิดไง? TDRI เสนอเก็บค่าน้ำภาคการเกษตร ขณะที่ สนช.ชง พ.ร.บ.ข้าว หวังปฏิวัติวิถีชาวนา
Sharing

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. และสมาชิกสนช. 25 คน ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับที่ พ.ศ. … ที่จะมี คณะกรรมการข้าวที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ มาช่วยพัฒนาห่วงโซ่การผลิต การตลาด การส่งออกข้าว ให้เพียงพอต่อการบริโภค แข่งขันกับต่างประเทศ วางระบบคุ้มครองชาวนาให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพ ที่สำคัญป้องกันการลักลอบนำข้าวหรือข้าวเปลือกนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ในฐานะผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว กล่าวว่า เป็นกฎหมายปฏิวัติพัฒนาวงจรข้าวอย่างครบวงจรทั่วประเทศ มุ่งให้ความเป็นธรรม เนื่องจากตนเป็นเกษตรกรเก่าเคยยากลำบากเข้าใจหัวอกชาวนา รู้ปัญหาที่ไม่เป็นธรรม เราไม่ได้มองว่า โรงสีเป็นยักษ์เป็นมาร แต่เราต้องวางกรอบความเป็นธรรมให้เป็นมาตรวัดได้ในกรอบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ว่ากฎหมายนี้ออกไปแล้วชาวนาจะปลดหนี้สินได้เลยทันที แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของใบเบิกทางให้ชาวนาลืมตาอ้าปากก็ได้ เพราะเรามีการดูแล ให้ความรู้ช่วงเวลาระหว่างรอการเก็บเกี่ยวของชาวนา จะส่งเสริมในการทำนาในพื้นที่เหมาะสม เน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพ อาศัยความร่วมมือศูนย์ข้าวชุมชนกว่า 2,000 แห่ง เพื่อสร้างแบรนด์ข้าว สำหรับพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้ นายกิตติศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า สนช.จะรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ปลายสัปดาห์นี้ที่ จ.ชลบุรี

อีกด้านหนึ่ง นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้น้ำภาคการเกษตรยังมีประสิทธิภาพต่ำมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้น้ำกันอย่างไม่ระมัดระวังเพราะไม่มีราคา จึงทำให้น้ำจำนวนมากในระบบต้องสูญเสียไป ทั้งนี้ ถ้านำน้ำไปสนับสนุนในการปลูกในพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น อ้อย ลำไย เป็นต้น จะทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพและรายได้เกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ

นายนิพนธ์ ยังระบุว่า ภาคการเกษตรไม่มีการเก็บค่าชลประทานเลย เนื่องจากรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงกลัวเเรงต้านจากเกษตรกร 

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง 2485 หลังประกาศเขตชลประทานตามมาตรา ของ พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้จัดเก็บค่าใช้น้ำตามมาตรา 8 จากภาคเกษตรไม่เกิน 5 บาทต่อไร่ต่อปี และประปาและอุตสาหกรรม เก็บค่าชลประทานไม่เกิน 0.50 บาทต่อลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้กรมชลประทานสามารถประกาศเขตได้ 7,500 เขต แต่มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำได้เพียง 362 ราย วงเงิน 798 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ใช้น้ำไปถึง 1,596 ล้านลบ.ม.

ดังนั้น หากกรมชลประทานยึดบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุดตามพ.ร.บ. 2548 อย่างเข้มงวด จะทำให้มีรายได้จากการใช้น้ำประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีการปรับระบบการส่งน้ำส่งน้ำชลประทานใหม่ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มการใช้น้ำ และปรับขึ้นค่าใช้น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยลดภาระของภาครัฐได้ ถึง 8,109-13,775 ล้านบาทต่อปี เงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าน้ำ ต้องแบ่งเข้ากองทุนเพื่อปรับปรุงระบบชลประทาน การใช้น้ำลดลง รองรับอนาคตที่จะเกิดภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำลดลง

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก : ไทยรัฐออนไลน์ , ข่าวสด


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่