วงเสวนาเรื่อง “เรียน-กู้-ค้ำ-หนี้-หนี-บังคับ ความเป็นธรรมของกฎหมายกับนโยบายกองทุน กยศ.” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาการเบี้ยวหนี้เงินกู้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. จนส่งผลกระทบต่อผู้ค้ำประกันเงินกู้
ซึ่งปัญหานี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า การให้เงินกู้ กยศ. ก็เพื่อต้องการสนับสนุนให้เด็กยากจนได้รับการศึกษาสูงสุด เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่ง กยศ.อาจไม่ได้รับเงินกู้กลับคืนมาเต็มจำนวน ดังนั้นจึงต้องหาวิธีบริหารจัดการเงินกองทุนให้รัดกุมมากขึ้น
และเพื่อไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อนจากเงินกู้ กยศ. ควรยกเลิกการค้ำประกันเงินกู้ โดยพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้ กับระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อติดตามตัวผู้กู้มาชำระหนี้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ กยศ.ควรมีระบบติดตามดูการเรียน และโอกาสในการหางานทำของเด็กด้วย
ด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. บอกว่า ขณะนี้คณะกรรมการ กยศ. กำลังเร่งหาทางปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องการค้ำประกันเงินกู้ กยศ.อยู่ คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้
ปัจจุบัน มีผู้กู้ที่ค้างการชำระหนี้มีมากถึง 2.1 ล้านคน และในจำนวนนี้มีถึง 1.1 ล้านคน ที่กำลังถูกดำเนินคดี
กยศ. ยังได้ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งจากอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีฐานะยากจน ต่อสู้ชีวิตจนได้เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ด้วยเงินติดตัว 1,000 บาท เพราะอยากเรียนที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ ทางสถาบันจึงประสานขอกู้เงิน กยศ.ให้ จนวันนี้เรียนจบแล้ว และกำลังผ่อนชำระหนี้เงินกู้อยู่ ซึ่งเด็กคนนี้ย้ำว่า กยศ.ช่วยให้ได้เรียนหนังสือจนสำเร็จ มีงานทำ จนได้ตำแหน่งรองผู้จัดการร้านสะดวกซื้อ