นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัยและไม่เชื่อมั่น ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยระบุว่าขณะนี้ ปัญหาที่ผู้มีอำนาจคือ คสช.และรัฐบาลต้องทบทวนและพิจารณาตัวเอง เนื่องจากมีการเลื่อนมาหลายครั้ง หากใครไปย้อนดูจะมีคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ว่าจะเลือกปี 2560 หรือ 2561 บ้าง แต่ก็เลื่อนมาเรื่อยๆ คนในสังคมจึงรู้สึกไม่มีอะไรแน่นอน ต่อมามีเครื่องหมายคำถามว่า มาตรา 44 จะถูกนำออกมาใช้ให้เป็นปัญหาหรือไม่ และมาตรา 44 ที่ใช้ไปแล้ว ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างไม่เดินไปตามความตั้งใจของรัฐธรรมนูญ เช่น พรรคการเมืองไม่สามารถไม่ทำตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ การทำไพรมารีโหวต รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง
ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ถ้าเป็นไปตามกรอบที่วางไว้นั้นจะถือเป็นพระคุณต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง แต่กลัวว่าจะไม่เป็นจริงอย่างที่ได้กำหนดไว้เพราะเพียงแค่ กกต.เอ่ยถึงกรอบระยะเวลาออกมา ทาง คสช.ก็ออกมาเบรคแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าคงไม่เป็นไร เพราะในเมื่อมีกรอบหรือโรดแมปวางไว้แล้ว ถ้าไม่เป็นไปตามโรดแมปที่ กกต.วาง เขาก็ต้องมีเหตุผลมาชี้แจงว่าเพราะเหตุใด ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า กกต.ชุดใหม่จะทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอน
ขณะที่วานนี้ (20 ส.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับกกต.ชุดใหม่ ได้มีการหารือกกต.รวม 10 ประเด็น ต่อยอดจากการประชุมช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่จะทำ 90 วันก่อนที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้หลังมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในกลางเดือนกันยายน โดยประเด็นที่จะทำให้ได้คือการคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ 6 อย่างโดยไม่ต้องขออนุญาตคสช. อาทิ การจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมาชิกใหม่ และการทำในสิ่งที่คล้ายการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองเพราะหากทำตามกฎหมายพรรคการเมืองจะมีความยุ่ง จึงจะดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทน ซึ่งกกต.ระบุว่ามีหลายวิธีที่สามารถดำเนินการได้ และให้ความเห็นถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละแนวทาง ทำให้ยังไม่ได้สรุปในเวลานี้ โดยตนจะได้รวบรวมเสนอคสช.พิจารณาแก้ไขต่อไป