นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการคลายล็อคการเมืองตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่า เชื่อว่ารัฐบาลพยายามเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อที่รัฐบาลจะได้เอาไปเป็นข้ออ้างได้ว่าเดินตามโรดแมปที่กำหนดไว้ ดังนั้น อาจจะมีการใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วยในการทำไพมารีโหวตให้กับพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้ทำงานกันง่ายขึ้น
นอกจากนี้แล้วก็มีการกำหนดเขตเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นการปลดล็อกก็เพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ แต่ก็ไม่ปลดล็อคเร็วนัก เพราะจะเอามาเป็นข้ออ้างว่าจะได้ไม่เกิดความวุ่นวายในประเทศหลังปลดล็อค การเปิดให้ทำไพรมารีโหวต เชื่อว่า คสช.จะทำแบบรายภาค มากกว่าเพื่อที่จะให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้
นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า คสช.จะเน้นในการคลายล็อคมากกว่าปลดล็อคการเมือง เพื่อที่จะค่อยๆทำกันไป ซึ่งอาจจะค่อยๆคลาย โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงมาเป็นตัวผ่อนคลาย นอกจากนี้แล้ว กรณีดังกล่าวจะช่วยให้ คสช.ทำงานง่ายขึ้นด้วย ในส่วนของการดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองนั้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา อยากให้ฝ่ายกฏหมายของ คสช.น่าจะมีการประกาศให้ชัดเจนว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้
ในส่วนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ตนเป็นห่วงเรื่องกรอบเวลา ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หากเดินตามที่ คสช.กำหนด เชื่อว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่น่าจะมีปัญหา แต่พรรคขนาดกลางขนาดเล็กจะมีปัญหาว่าจะมีสมาชิกเพียงพอหรือไม่ เพราะเวลาในการหาสมาชิกพรรคน้อย ดังนั้น ทางพรรคการเมืองต้องมีการเตรียมความพร้อมมากขึ้นพรรคใหญ่จึงมีโอกาสมากกว่า
ในส่วนของการปฏิบัติเกี่ยวกับการหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนั้น ทำลำบากสำหรับพรรคการเมือง เพราะหากหัวหน้าพรรคกับประชาชนหรือสมาชิกในพื้นที่มองกันคนละคน จะหาข้อสรุปเรื่องดังกล่าวอย่างไร