พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ“ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายน2561โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลนี้ว่า ได้เน้นการกระจายลงไปยังท้องถิ่นเพื่อช่วยกระจายรายได้ สร้างงานให้พี่น้อง ในลักษณะท่องเที่ยวชุมชน นอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจระดับฐานรากตื่นตัว ช่วยแก้ปัญหาความยากจนแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งในชุมชนได้อีกด้วย
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องของโรงแรม ที่พัก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากเนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ที่อาจจะไม่ส่งเสริม ไม่สอดรับกับรสนิยมการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งต้องการเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติ วิถีชุมชนโดยตรงด้วยตัวเอง เช่น นอนในหมู่บ้านชาวประมง ป่าโกงกาง ที่ตื่นขึ้นมาก็ได้สัมผัสกลิ่นไอป่าชายเลนยามเช้า ล่องเรือชมหิ่งห้อยยามค่ำเป็นต้น รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญ ๆ ตามปฏิทินการท่องเที่ยว และตามฤดูกาล เช่น การเก็บกินผลไม้จากต้นในสวน ที่ก็ต้องเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ด้วย ดังนั้น โรงแรมใหญ่ ๆ อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวแนวนี้ นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันนั้นกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกับ Air BNBแพลตฟอร์มให้เช่าที่พักระดับโลก เพื่อจะเพิ่มมูลค่าและเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยว ให้กระจายในเมืองท่องเที่ยวรองและชุมชนพื้นบ้าน โดยสนับสนุนให้คนไทยที่เป็นเจ้าบ้าน เปิดห้องพักในบ้านของตนให้เช่าชั่วคราวระยะสั้น ๆ ซึ่งบ้านที่เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพียงแต่เป็นบ้านพักอาศัยในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สมัครใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จากนั้น อปท. จะตรวจสอบสภาพบ้านให้มีความสะอาด ปลอดภัย มีอาหารการกินที่ดี มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อยกระดับชาวบ้านให้เป็นผู้ประกอบการ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ ส่วนข้อกังวลที่เกี่ยวกับกฎหมายโรงแรมและที่พัก กรมการปกครองก็ได้ชี้แจงว่า กรณีที่มีห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง มีแขกเข้าพักไม่เกิน 20 คน ไม่เข้าข่ายธุรกิจโรงแรม สามารถเปิดบริการเป็นที่พักได้ เพียงแต่เจ้าของบ้านต้องจดแจ้งกับอำเภอ เพื่อให้บริการที่พักที่ไม่ใช่โรงแรมได้ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องไปตรวจสอบว่าบ้านพัก สามารถเข้าโครงการได้หรือไม่ หรือมีคำแนะนำอย่างไร ที่สำคัญโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อชาวชุมชนในทุกท้องถิ่นทั่วไทย ซึ่งผ่านการพิจารณาของ อปท. ให้เข้าร่วมแล้วเท่านั้น โดยเชื่อมโยงเจ้าบ้าน และผู้เข้าพัก แขก นักท่องเที่ยว บนแพลตฟอร์ม Air BNB ที่กล่าวมาแล้ว
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ กล่าวคือให้อาคารที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ให้มีลักษณะหรือมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็มีอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก สามารถจะขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมได้ รวมทั้งมีการผ่อนปรนข้อกำหนดบางประการ ของอาคารที่สูงน้อยกว่า 4 ชั้นอีกด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่หากจะมีการดัดแปลงอาคาร ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี เป็นระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้ ทำเพื่อทุกคน ก็อย่ามาหาว่าไปเอื้อประโยชน์อะไรกับใครเลยนะครับ เพราะว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์จากใครทั้งสิ้น แต่ต้องการให้พี่น้องประชาชนที่ประกอบการในเรื่องเหล่านี้ ได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม เข้าถึงโอกาสทุกโอกาส เพื่อจะแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโรงแรมในภาพรวมของประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ ในการกระจายรายได้ให้สู่ประชาชนในท้องถิ่น อย่างทั่วถึง มีธุรกิจเชื่อมโยงอีกหลายอย่างด้วยกัน อาทิ บางครอบครัวสามารถนำค่าที่พัก รายวัน รายสัปดาห์ มาจุนเจือค่าผ่อนส่งบ้าน ที่เป็นภาระยาวนานของครัวเรือนไทย ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง ผมก็ไม่อยากให้เป็นอย่างที่ใครบางคนพูดในอดีตว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของนายทุน ใช้กีดกันชาวบ้าน ผู้มีรายได้น้อย ออกจากวงจรการแข่งขันทางธุรกิจ โดยแนวทางนี้ จะช่วยให้บ้านที่เป็นต้นทุนในอนาคตของทุก ๆ คน สามารถนำมาหารายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม และ ส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะผู้ประกอบการ เกิดการเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เฟซบุ๊ก “ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย” โพสต์ถึงแนวคิดดังกล่าวของรัฐบาลว่า “ขอบคุณรัฐบาลที่เห็นว่าเป็นนโยบายที่พึงต้องทำ” เนื่องจากนโยบายการลดอำนาจรัฐ โดยปรับปรุงกฎหมายที่ขัดขวางการประกอบอาชีพของชาวบ้าน อย่างเรื่องโฮมสเตย์ หรือ Air BNB เป็นแนวคิดที่พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง