นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยข้อมูลงบประมาณที่ใช้รักษาพยาบาล ระหว่างประชาชน และข้าราชการ ระบุว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีดูจะเป็นห่วงและหงุดหงิดกับเรื่องภาระงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมของประชาชน แต่ท่านไม่ค่อยพูดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการของข้าราชการบ้างเลย ตนเลยสนใจสืบค้นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 มาดูว่าภาระด้านงบประมาณของประเทศ ด้านสวัสดิการของฝั่งประชาชนและฝั่งข้าราชการ เป็นอย่างไรกันบ้าง
ขอเริ่มต้นจาก ฝั่งประชาชน ก่อนแล้วกัน หนึ่ง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนประมาณ “49 ล้านคน” ใช้งบประมาณ 134,269 ล้านบาท
สอง กองทุนประกันสังคม คิดเฉพาะส่วนที่รัฐบาลสมทบเข้ากองทุนทั้งในส่วนของสุขภาพและชราภาพ มีผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งก็คือผู้ประกันตน “14.5 ล้านคน” ใช้งบประมาณ 47,011 ล้านบาท
สาม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณ “9 ล้านคน” ใช้งบประมาณ 72,469 ล้านบาทรวมฝั่งประชาชน “53.5 ล้านคน”(รวมจากผู้ใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม) ใช้งบประมาณรวมกัน 249,359 ล้านบาท
ในขณะที่ ฝั่งข้าราชการบ้าง หนึ่ง งบประมาณค่ารักพยาบาลข้าราชการ (จากกรมบัญชีกลาง) มีผู้ได้รับประโยชน์คือข้าราชการและครอบครัวประมาณ “6 ล้านคน” ใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท (หมายเหตุ ลองเทียบจำนวนผู้ได้รับประโยชน์กับงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูครับ กองทุนสปสช. ใช้งบฯ มากกว่า 1 เท่าตัว แต่มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนมากกว่า 8 เท่า)
สอง งบประมาณสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงเงินชดเชย สำหรับสมาชิก กบข. มีผู้ได้รับประโยชน์ “ 1 ล้านคน” ใช้งบประมาณ 54,845 ล้านบาท
สาม งบประมาณเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ ที่เป็นข้าราชการบำนาญจำนวน “7 แสนคน” ใช้งบประมาณ 223,762 ล้านบาท รวมฝั่งข้าราชการ ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์รวมครอบครัวด้วยประมาณ “ 6 ล้านคน” ใช้ประมาณ 348,607 ล้านบาท มากกว่าฝั่งประชาชนเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ถ้ารวมงบประมาณสวัสดิการทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน จะเท่ากับ 597,966 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ คือ 6 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณสวัสดิการของข้าราชการจะเท่ากับ ร้อยละ 58 ของงบประมาณสวัสดิการทั้งหมด(จากจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ ไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ) จากตัวเลขนี้คงชี้ให้เห็นถึงภาระงบประมาณสวัสดิการของข้าราชการได้เป็นอย่างดี
นายเดชรัต ย้ำว่า งบประมาณสวัสดิการของประชาชนคิดเป็นร้อยละ 42 ของประมาณสวัสดิการทั้งหมด เท่านั้น ทั้งที่มีจำนวนผู้ที่ใช้บริการมากกว่าถึงเกือบ 9 เท่า กล่าวได้ว่า เราอยู่ในประเทศที่คนส่วนใหญ่ใช้งบสวัสดิการส่วนน้อยของประเทศ
“หวังว่าข้อมูลเบื้องต้นของผม คงเป็นประโยชน์ต่อท่านนายกรัฐมนตรีบ้างครับ” นายเดชรัต กล่าว