“สงบ หรือวุ่นวาย” ??? ประเทศไทย จะไปทางไหน หลังประกาศใช้ พรป. ส.ส. – ส.ว.

Sharing

หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุกเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2561  จำนวนทั้งสิ้น 178 มาตรา และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 จำนวนทั้งสิ้น 99 มาตรา  โดยกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องรอบังคับใช้ ขณะที่กฎหมายลูกว่าด้วยที่มา ส.ว.บังคับใช้ทันที

ล่าสุด ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประจำสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ถึงสถานการณ์บ้านเมืองต่อจากนี้ ว่า เป็นสัญญาณชัดเจน ที่การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในภายในปี 2562 แน่นอน แต่จะต้นปี หรือกลางปีคงต้องรอความชัดเจนในอนาคต ระหว่างนี้ ให้จับตาดูว่า คสช. จะใช้มาตรา 44 เพื่อคลายล็อกเมื่อไร และจะคลายล็อกในระดับไหน แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป้นการเปิดทางให้พรรคดำเนินกิจการภายในเท่านั้น อาทิ ประชุมพรรค เลือกหัวหน้า เลือกกรรมการ กำหนดข้อบังคับ สำหรับพรรคเก่า

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อมาคือเรื่องของการทำไรมารีโหวต ว่าจะทำแบบยาก แต่สะท้อนเจตนารมย์ประชาชน ให้สมาชิกมีส่วนร่วมเลือก ส.ส. หรือจะทำแบบง่าย ให้ตัวแทนพรรค 11 คนเลือกผู้สมัคร โดยไม่ต้องสนใจสมาชิกพรรคคนอื่น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเลือกแบบง่ายมากกว่า เพื่อควบคุมบรรยากาศการหาสมาชิกพรรค ให้อยู่ในกรอบ ขณะเดียวกัน การทำไพรมารีโหวอย่างง่าย ยังเอื้ออำนวยต่อพรรคเก่าที่มีตัวเลือก สส แบบบัญชีรายชื่อไว้ในใจ แน่นอนว่าถ้ามองตามภาพนี้ แม้จะมีการคลายลิก แต่บรรยากาศบ้านเมืองจะไม่วุ่นวายแน่นอน

ด้าน ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำวิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต  กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 62 สิ่งที่น่าสนใจคือการเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องการเข้ามา ส.ว.คาดว่าน่าจะคึกคัก เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญ มีอำนาจมาก มีการแข่งขันกันสูง นอกจากนั้น ยังต้องดูการตัดสินใจของฝ่าย คสช. ด้วยว่าจะเลือกบุคคลแบบไหนเข้ามาเป็น ส.ว. ซึ่งจะเป็นการสะท้อนภาพอนาคตของการเมืองไทย

“ หน้าตา ส.ว. ที่เราทราบแล้วอย่างน้อย 6 คนก็มาจากสัดส่วน ผบ.เหล่าทัพ-ผบ.ตำรวจ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าน่าจะมีอดีตข้าราชการทหาร-ตำรวจ หรือ นายทหารตำรวจที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญอาจถูกดึงมาอยู่ตำแหน่งวุฒิสมาชิก เพื่อไม่ให้ สว.ที่มาจาก ผบ.เหล่าทัพต้องทำหน้าที่หมวกของนักการเมืองอีกใบกันตามลำพังแน่นอน”

ผศ.วันวิชิต กล่าวต่อว่า แต่ละพรรคน่าจะหาสมาชิกเพื่อมาทำไพรมารีโหวต ต้องดูมาตรฐาน กกต. ว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย หวังว่า กกต.จะดำเนินการอย่างถูกต้องและยุติธรรม

ขณะที่ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวถึงการประกาศใช้ กม.ลูกว่าด้วยที่มาของ ส.ส. และ ส.ว. ว่า ขั้นตอนต่อไป คสช. ต้องวางแนวทางคลายล็อกการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินการกิจกรรมได้ และต้องหารือ กับ กกต. เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนและมี พรฎ. วันเลือกตั้ง

การเมืองไทยหลังจากนี้ พรรคการเมืองจะมีการขยับทั้งเรื่องนโยบายพรรค สมาชิกพรรค ผู้บริหารพรรค และ คัดเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ในขณะที่แรงกดดันจะไปอยู่ที่ คสช. เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้พรรคการเมืองสามารถทำอะไร ได้แค่ไหน

อย่างไร ตราบใดก็ตามที่ คสช. ยังไม่มี roadmap ทางการเมืองที่ชัดเจนในการเลือกตั้ง เสียงวิจารณ์ยังพุ่งตรงไปที่ คสช. ในขณะที่ คสช. เองก็ประสงค์ที่จะรักษาอำนาจ แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน เพราะ กลุ่มการเมืองที่ใกล้ชิด เช่น 3 มิตร พลังประชารัฐ รปช. มีแนวโน้มได้เสียงไม่ถึงเป้า

ขณะที่พรรคการเมืองส่วนหนึ่งเริ่มสร้างเงื่อนไขไม่เอานายกคนนอก คสช. ต้องเตรียมแก้เกมโดยอาศัยผลโพลเป็นการตอบกลายๆว่าประชาชนยังต้องการพลเอกประยุทธ์

จากนี้ คสช.มีทางเลือกไม่มากนัก เช่น

1.เปิดตัว พล.อ ประยุทธ์ เป็นหัวพรรคพลังประชารัฐ โดยอ้างเสียงเรียกร้องจากประชาชนตามผลโพล

2.นั่งเป็นประธานพรรค ด้วยเหตุเดียวกัน

3.มีเหตุต้องเลื่อนเลือกตั้งด้วยเหตุผลความมั่นคง เช่น สหพันธ์รัฐไทย

ส่วนพรรคการเมืองที่มีความพร้อมมากที่สุดตอนนี้คงยังเป็นพรรคการเมืองเก่า เช่น เพื่อไทย ปชป. ภูมิใจไทย เป็นต้น ในขณะที่พรรคตั้งใหม่ เช่น อนาคตใหม่ กระแสดีในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดยังเป็นรองพรรคการเมืองเก่า


Sharing
spot_img

Latest articles

Related articles

spot_img