จากกรณีที่ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของ ยูเอ็น ระบุ ไทยติดใน 38 ประเทศว่าเป็น “ประเทศที่น่าละอาย” หรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน กว้างขวาง
ล่าสุด พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อย(คสช.) กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการบิดเบือนข่าวสาร จากบางฝ่ายที่ต้องการโจมตีรัฐบาล ขอเรียนว่า การรับฟังข่าวสารทางสังคม ช่วงนี้ ต้องใช้วิจารณญาณพอสมควร พบมีบางบุคคลยังคงพยายามหยิบยกเหตุการณ์ ในวาระต่างๆ บางมุม บางข้อมูล มาแสดงความคิดเห็น หรือทัศนคติส่วนตัว เพื่อให้เกิดผลกระทบกับความน่าเชื่อถือ รัฐบาล และ คสช.
เมื่อนักข่าวถึงการปฏิบัติต่อนักสิทธิมนุษยชน อาทิ กรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) ซี่งทางการปฏิบัติไม่เหมาะสม จนถูก UN ลงบันทึก และอาจจะกลายมาเป็นข้อมูลที่ทำให้ไทยถูกลงบัญชีเป็นประเทศที่น่าอับอาย
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ไม่น่าเกี่ยวข้องกัน โดยทั้ง 3 กรณีเป็นลักษณะเหตุเฉพาะบุคคล ที่มีกรณีเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย จึงอาจมีการการดำเนินการเป็นไปตามหลักกฎหมายปกติ เช่น กรณีที่เคยมีการฟ้องร้องนักสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้ ก็เป็นเรื่องที่ทางองค์กรหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ถูกนักสิทธิมนุษยชนละเมิดในเรื่องภาพลักษณ์ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่มีความละเอียดอ่อน
สำหรับภาพรวม ทางการร่วมมือในด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาตลอด. ปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้พัฒนากระบวนการ กลไก และมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้รับความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติงานอย่างดี
“ข้อมูลในรายงาน มีที่มาอยู่ในกรอบที่จำกัด หรืออาจมีที่มาจากเพียงบุคคลเฉพาะกลุ่ม เท่านั้น ส่วนการมีบางบุคคลนำประเด็นมาขยายผลใช้ในมุมที่เป็นลบนั้น เท่าที่มีข้อมูล พบว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดิม เชื่อสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่รู้เท่าทัน และมีพัฒนาการในการรับฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างมีเหตุผลโดยอาศัยวิจารณญาณที่สมดุลย์เพียงพอ ไม่โอนเอียงไปตามกระแสเป้าหมายนัยยะทางการเมืองของบางบุคคล”
ด้าน น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงว่า ไทยไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะคุกคาม ข่มขู่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงได้มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้พัฒนากระบวนการ กลไก และมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้รับความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตได้
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จะเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ในวันที่ 19 ก.ย. 2561 ที่เจนีวา และใช้โอกาสนี้ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง