ญาติวีรชน-คนการเมือง จี้ คสช. “ปลดล็อก” ให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม

Sharing

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวถึงกรณีคสช.ประกาศคลายล็อกให้กับพรรคการเมืองว่า ความจริงแล้วคสช.ควรจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปรวมทั้งสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกันอย่างเสรี เพื่อที่จะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่การที่คสช.ยังไม่ยอมปลดล็อก จะกลายเป็นอุปสรรคที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม และทำให้เกิดข้อครหาตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจคสช.

“ในโอกาสนี้จึงต้องคืนสิทธิให้กับประชาชนกลับเข้าสู่สภาพเดิมตามระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพื่อให้ ประชาชนทุกภาคส่วน ได้แสดงออกหรือเรียกร้องตามสิทธิที่พึ่งมีติดตัวมานับแต่เกิด รวมทั้งปลดล็อกให้สื่อมวลชน ได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงต่างๆก่อนการเลือกตั้ง”

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย คสช.กลัวอะไรนักหนา จึงไม่ยอมปลดล็อก เห็นคำสั่งคลายล็อกที่กลายเป็นล็อกแน่นเข้าไปอีก โดยเฉพาะเรื่องห้ามหาเสียง แล้วก็รู้สึกว่าเป็นตลกร้าย จะขำก็ขำไม่ออก เพราะคำสั่งนี้กำลังทำลายการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นให้กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ที่รู้แน่ๆคือกำลังเป็นการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนไดรับรู้ข้อมูลน้อยที่สุด มีส่วนร่วมน้อยที่สุดคือสักแต่ว่าให้ไปหย่อนบัตรโดยไม่ต้องรู้อะไรเลย ที่พิลึกกึกกือที่สุดคือห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง ซึ่งก็ไม่รู้คำว่า”หาเสียง”ว่าแปลว่าอะไร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการวิพากษ์วิจารณ์คสช.หรือรัฐบาลทางโซเชียลมีเดียมักถูกคสช.แจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีตามพรบ.คอมพิวเตอร์แบบเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยๆ แม้การนั่งแถลงข่าววิจารณ์ผลงานคสช.ก็ถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินห้าคนและฝ่าฝืนกฎหมายอาญามาตรา 116 คำสั่งคลายล็อกนี้จะยิ่งทำให้การวิพากษ์วิจารณ์คสช.และรัฐบาลทำได้ยากยิ่งขึ้น การห้ามโน่นห้ามนี่ทั้งหลายเหล่านี้ อาศัยข้ออ้างตลอดกาลของคสช.คือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย แท้จริงแล้วสิ่งที่คสช.กับพวกต้องการก็คือทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน

“และที่น่าเศร้าก็คือสุดท้ายแล้วการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเป็นเพียงสิ่งที่คสช.กับพวกจำยอมต้องให้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้อับอายขายหน้าชาวโลกนานเกินไป แต่เมื่อใจจริงไม่อยากให้มีและยังหวาดกลัวว่าประชาชนจะไม่เออออห่อหมกด้วย ก็เลยทำเสียจนกระทั่งการเลือกตั้งนี้ต้องพิกลพิการไป ไม่มีความหมายอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่คสช.กับพวกอาจจะมองผิดไปอย่างหนึ่งก็คือประชาชนไม่ได้โง่อย่างที่พวกเขาคิด ไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป”

ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า สิ่งที่ยังเป็นห่วงอยู่คือการติดต่อสมาชิกพรรคโดยผ่านวิธีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องขอความชัดเจนจาก คสช. หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เร่งพิจารณาแนวทางให้พรรคปฏิบัติได้ เพราะโลกออนไลน์มีรายละเอียดซับซ้อน เช่น เฟซบุ๊กของพรรคการเมืองจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เปิดเป็นสาธารณะแล้วสื่อสารกับสมาชิกได้อย่างเดียว หรือแม้แต่เว็บไซต์ของพรรค จะต้องทำอย่างไรก็ยังนึกไม่ออกจนปัญญาจริงๆ เพราะการควบคุมโลกโซเชียลให้เป็นไปในทางปิดหรือไม่ใช่สาธารณะนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก


Sharing
spot_img

Latest articles

Related articles

spot_img