วันนี้ (9 ต.ค. 61) เวลา 10.30 น. ณ อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในฐานะแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อมตัวแทนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โครงการอินเตอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยไทย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน และสมัชชาคนจน ร่วมแถลงเปิดตัวเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (Free, Fair & Fruitful Election) หรือ FFFE
โดยเครือข่ายนี้คือการรวมตัวของภาคประชาชนกว่า 10 องค์กร เพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ โดยเจะมีกิจกรรมเป็นระยะตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้ถึงการเลือกตั้ง เน้นการแสดงจุดยืนและรณรงค์เพื่อขจัดเงื่อนไขที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรมและไร้ความหมาย ผ่านแถลงการณ์ งานเสวนา กิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อการสื่อสาร เข้าชื่อรณรงค์ และสร้างพลังเครือข่ายภาคประชาชนที่จะมีส่วนในการจับตาสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 โดยความพิเศษของเครือข่ายนี้อยู่ที่การทำงานประสานกับทุกภาคส่วน รวมถึงบรรดาพรรคการเมืองที่จะต้องรับพันธกิจจากประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการนำประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหลังการเลือกตั้งด้วย
น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้กล่าวถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับความสนใจจากประชาคมโลก ในฐานะที่เป็นประเทศที่ตกอยู่ใต้การปกครองโดยเผด็จการ นักการเมือง นักกิจกรรม นักวิชาการและประชาชนจำนวนมากที่แสดงออกต่อต้านรัฐบาลคสช.ถูกตั้งข้อหาปิดปากและมีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารกระทั่งทุกวันนี้ จึงเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าหากบรรยากาศเช่นนี้ดำเนินต่อไป การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็จะไร้ความหมาย และหากผลการเลือกตั้งจากบริบทเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ ประเทศจะเดินหน้าต่ออย่างไร
นายณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน จาก iLaw เสริมว่าการมีอยู่ของมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งใดๆก็ได้นั้น ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เสรีและเป็นธรรม จากการติดตามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากประกาศและคำสั่งต่างๆ iLaw เห็นว่า อย่างน้อย 35 ฉบับจะเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม เราจึงเสนอให้ยกเลิกได้แล้ว
ด้านกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นายธนพล พันธุ์งาม ได้ให้ความเห็นในประเด็นความเป็นธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า การเลือกตั้งจะแฟร์ได้นั้น ปัจจัยขั้นต่ำๆได้แก่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ และสามารถสื่อสารกับประชาชนได้เท่าเทียมกัน ขณะนี้พรรคการเมืองยังไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะประชาชนเพื่อหาเสียงเลย แม้แต่การสื่อสารออนไลน์ก็ถูกข่มขู่ห้ามปราม ในขณะที่คนในรัฐบาลที่ประกาศตัวชัดว่าจะเล่นการเมืองนั้นสามารถทำได้ทุกอย่าง ประชาชนก็คงตอบตัวเองได้ว่านี่คือความเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง
นางศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนภาคแรงงาน กล่าวถึงการที่พรรคการเมืองไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเสรีตลอดสี่ปีมานี้ ทำให้เกิดข้อกังวลว่า นโยบายที่จะนำมารณรงค์หาเสียงจะมาจากไหน และจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่ หากไม่รีบปลดล็อคการเมือง ก็เกรงว่านโยบายที่ได้มาจะไม่ตอบโจทย์ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้ขาดผลในทางปฏิบัติ ผิดเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งเพื่อให้มีผู้แทนที่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชน
นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาฯ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายนักศึกษา กล่าวถึงความกังวลว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงอาจไม่เป็นธรรม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกัมพูชา ขณะนี้เราได้เห็นรัฐบาลใช้งบประมาณไปในการสร้างความนิยมของตนเอง ผ่านการเดินสายในโครงการต่างๆและจ้างดารานักแสดงมาร่วมรายการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐ รวมถึงการที่มีคนในคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจ
ทั้งนี้ เครือข่าย FFFE จะจัดกิจกรรมแรก “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย” ในวันที่ 14 ตุลาคม 61 ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 12.00-16.30 น. โดยภายในงานจะมีการประกาศจุดยืนผ่านแถลงการณ์ร่วมของภาคประชาชนและพรรคการเมือง และการเสวนา โดยแบ่งเป็นภาคประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งจะมีผู้แทนระดับแกนนำพรรคการเมืองที่ได้รับความสนใจถึงเจ็ดพรรคเป็นเบื้องต้นเข้าร่วมทั้งเวทีแถลงการณ์และการเสวนาด้วย