นายธีรัชย์ อัตนวานิช โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ภายใต้การบริหารหนี้ของรัฐบาลชุดปัจจุบันตั้งแต่สิ้นปีงบประมาณ 2557 ประเทศมีหนี้สาธารณะ 5.69 ล้านล้านบาท หรือ 43.3% โดยมูลค่าของจีดีพีอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท โดยล่าสุดหนี้สาธารณะอยู่ที่ 6.67 แสนล้านบาท หรือ 41.32% มูลค่าจีดีพี 16 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขหนี้จะพบว่ามีการก่อหนี้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท แต่เป็นการก่อหนี้เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมูลค่าของ จีดีพีเพิ่มถึง 4 ล้านล้านบาท มากกว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่านอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยยังอยู่ที่ 41.32% ถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้ไม่เกิน 60% อยู่มาก สะท้อนว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ เพราะการก่อหนี้เป็นหนึ่งนโยบายการคลังที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องใช้เช่นเดียวกัน
“ตัวเลขหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ปัญหา ประเด็นอยู่ที่คุณภาพของหนี้ที่กู้ไปแล้วใช้ทำอะไร โดยรัฐบาลนี้กู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก จากที่เข้ามาบริหารประเทศงบลงทุนมีอยู่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณ แต่ปีงบประมาณ 2562 งบลงทุนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 22% มากกว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ต้องมีงบลงทุนไม่น้อยกว่า 20% และงบลงทุนต้องไม่น้อยกว่าการตั้งขาดดุลงบประมาณ โดยในปีงบ 2562 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท แต่งบลงทุนมีสูงถึงเกือบ 7 แสนล้านบาท” นายธีรัชย์ กล่าว
นายธีรัชย์ กล่าวอีกว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนในปี 2562 มีความผันผวนมากกว่าในปีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางของหลายประเทศทยอยกลับเข้าสู่การใช้นโยบายการเงินในระดับปกติ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปรับเข้าสู่ขาขึ้น ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ในส่วนของไทยนั้นสวนทาง เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจเข้มแข็ง ทำให้ยังมีเงินทุนไหลเข้าไทยทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว