หน้าแรก Article พี่ไทยต้องศึกษา ! 5 ชาติอาเซียน แก้กฎหมายคุ้มครอง “GRAB”

พี่ไทยต้องศึกษา ! 5 ชาติอาเซียน แก้กฎหมายคุ้มครอง “GRAB”

0
พี่ไทยต้องศึกษา ! 5 ชาติอาเซียน แก้กฎหมายคุ้มครอง “GRAB”
Sharing

แม้จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับ GRAB ที่เข้ามาอุดจุดบกพร่องอันเกิดจากการให้บริการของรถสาธารณะ ทั้งการไม่รับผู้โดยสาร การไม่กดมิเตอร์ ไปจนถึงพฤติกรรม ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้า ไปจนถึงกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจภาคประชาชน สนองตอบภาคการท่องเที่ยวเมืองรอง

ทว่าตราบที่ GRAB ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย GRAB จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามอยู่เสมอ ด้วยเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ที่เข้ามาเขย่าตลาด

กระทั่งเกิดเป็นข่าวพิพาทอยู่บ่อยครั้ง

ทั้งนี้ ในความโกลาหลที่เกิดขึ้นในวงการรถรับส่งประชาชน มิใช่สิ่งที่สังคมไทยเพิ่งประสบ แต่ในอดีตแม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือรถตู้ ที่วิ่งกันทั่วไป ก็เคยเป็นสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองไม่ถึง

ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยน ความต้องการของคนเปลี่ยนไป และแน่นอนว่ากฎหมายก็ต้องเปลี่ยนตาม

แต่กระนั้น กลับไม่ยอมออกกฎหมาย เพื่อหาทางออกให้ GRAB

หากย้อนกลับไป จะพบว่า การพิพาทกันระหว่าง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบัน GRAB ได้เจาะตลาดที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า กัมพูชา รวมไปถึงไทย

ทุกที่ล้วนมีปัญหาเดียวกันหมด คือ การแข่งขัน ก่อให้เกิดการต่อสู้และแย่งชิงระหว่าง GRAB กับกลุ่มแท็กซี่

มีนาคม 2559 กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ในเมืองจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย หลายพันคน ปิดล้อมบริษัท GRAB โดยเรียกร้องให้ GRAB ถอนตัวจากการให้บริการที่อินโดนีเซีย ในปีเดียวกันที่ประเทศมาเลเซีย GRAB กับคนขับแท็กซี่ วางมวยใส่กันหน้าสนามบินปีนัง เพื่อแย่งนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามสำหรับมาเลเซียแล้ว นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนให้พลเมืองลงทุนสร้างรายได้มากที่สุด ทั้งยังเห็นความสำคัญว่า GRAB จะยกระดับการท่องเที่ยวตามเมืองขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีรถสาธารณะให้บริการ

ที่สุดแล้ว ประเทศมาเลเซียออกกฎหมายคุ้มครองการให้บริการของ GRAB แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด

กฎหมายดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 2 ฉบับ คือ The Country‘s Land Public Transport Act 2017 และ The Commercial Vehicles Licensing Board Act 2017 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 สาระสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ คือ การนำ GRAB เข้ามาอยู่ในกฎหมายควบคุมการขนส่งผู้ให้บริการ GRAB ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ

หากประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตอาจมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ริงกิต (158,000 เหรียญสหรัฐ) และมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ขับรถ GRAB หากไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษปรับขั้นต่ำ 1,000 ริงกิต แต่ไม่เกิน 200,000 ริงกิต หรือโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการขอใบอนุญาตจะต้องมีการตรวจสุขภาพ ตรวจสภาพรถ การจัดทำประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น(ขอบคุณข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ)

ส่วนอีกประเทศหนึ่งซึ่งรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่ใช้บังคับกับ GRAB แล้วคือประเทศสิงคโปร์ โดยกฎหมายดังกล่าวได้แก่ The Road Traffic Act 2017 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีลักษณะทำนองเดียวกับกฎหมายของประเทศมาเลเซีย คือ การนำ GRAB เข้ามาสู่ระบบ และนำระบบการขอใบอนุญาตมาใช้บังคับ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ขับขี่สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงการกำหนดมาตรการอื่น ๆ เช่น การตรวจสุขภาพผู้ขับขี่ ผู้ขับขี่จะต้องเป็นผู้มีใบขับขี่มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี การตรวจสภาพรถ การเข้าอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการขับรถตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่ต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นรถประกอบการรับส่งโดยสารและแสดงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่รถในฐานะผู้ได้รับอนุญาตให้ขับขี่ เป็นต้น

เป็นการออกกฎหมายเพื่อรับรองการมีอยู่ของ GRAB โดยออกเงื่อนไขให้ GRAB ต้องปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันเสียงครหาจากฝ่ายตรงข้าม

แนวทางดังกล่าว นำไปปรับใช้ใน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ กัมพูชา

กฎหมาย เป็นคำตอบเพื่อหยุดข้อพิพาทระหว่าง GRAB กับผู้ให้บริการรถสาธารณะประเภทอื่น เพราะนับตั้งแต่มีกฎหมายเหล่านี้ออกมา ข่าวการวางมวยระหว่าง GRAB กับ แท็กซี่น้อยลงทันที ขณะที่ธุรกิจในเมืองขนาดเล็กเติบโต อันเกิดจากการท่องเที่ยวที่เจริญตามระดับที่สูงขึ้นของการคมนาคม

แต่สำหรับประเทศไทย ยังไร้ซึ่งความชัดเจนว่าจะจัดการปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างไร

ล่าสุด TDRI มีข้อเสนอ ให้รัฐบาลและกรมการขนส่งทางบกพิจารณาแนวทางการจดทะเบียน RideSharing ให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งนำคนขับและรถมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง (รถสาธารณะ) สามารถใช้ป้ายทะเบียนเดิม (สีขาว) ได้

ผู้ให้บริการต้องมาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อลงบันทึกประวัติ พร้อมรับสติกเกอร์ 2 ชิ้น ระบุว่ารถคันนี้เป็นรถรับจ้างสาธารณะ ติดด้านท้ายและด้านหน้ารถ

ส่วนบทลงโทษตามกฎหมายและมาตรฐานของรถยนต์ ต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น การตรวจสภาพรถตามรอบเหมือนกับรถบริการสาธารณะทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างจากแท็กซี่สาธารณะ คือ ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์บางประเภทตามที่รัฐบาลกำหนด อาทิ มิเตอร์ จีพีเอสล็อกความเร็ว กล้องถ่ายภาพนิ่ง (SnapShot Camera) เป็นต้น

แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังลอยอยู่ในสายลม มิรู้ว่าถึงมือผู้มีอำนาจแล้วหรือยัง

ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ชีวิตของ GRABไทย ยังไร้กฎหมายคุ้มครอง คงอยู่ในมุมมืด แม้มีประชาชนจำนวนมากมายหนุนหลังก็ตาม

 

Ringsideการเมือง รายงาน

 


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่