“หลานที่อยู่มาด้วยกัน อีกสามวันเขาเป็นโรคคอตีบตาย ตายเพราะโรคที่มันรักษาได้ แต่รักษากันไม่ทัน ระบบสาธารณสุขเรามีปัญหา ผมเลยตัดสินใจเรียนหมอ”
หากถึงเมืองโคราช หาได้ยากนัก กับคนที่ไม่รู้จัก “หมอแหยง” หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สำเริง แหยกกระโทก อดีตนายกอบจ. เมืองย่าโม ด้วยเพราะการทำงานหนักมาตลอดทั้งชีวิต สร้างชื่อจากนักเรียนแพทย์ ผลการเรียนดีเด่น ก่อนเป็นสาธารณสุข จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งยกระดับ อสม. จนกลายเป็นที่ยอมรับ ในฐานะ “หมอน้อย” ประจำหมู่บ้าน ไปจนถึงการเป็นนายกอบจ. เมืองย่าโม ในสมัยแรกที่ลงเลือกตั้ง
รายการ Ringsideการเมือง มีโอกาสนั่งคุยกับ “หมอแหยง” เมื่อครั้งติดตามคุณหมอไปดูแลผู้ป่วยบริเวณชุมชนบ้านศีรษะละเลิง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดโคราช ร่วมกับทีมงาน อสม.ซึ่งเป็นผลงานเด่นระดับประเทศของตัวคุณหมอ
ชายร่างท้วมแว่นหนาเตอะ พูดคุยกับเราอย่างเป็นมิตร ประวัติชีวิตของคุณหมอไม่ธรรมดา
“บ้านผมยากจน เป็นลูกชาวนาพันธุ์แท้ ทำงานแทบตายไม่มีเงิน” คุณหมอเปิดประเด็นเล่าชีวิตวัยเด็ก ในฐานะของลูกคนสุดท้อง ของจำนวนบุตร 10 คน ในวัยเด็กคุณหมอต้องเสียพี่ชายไป 2 คน เมื่อโตขึ้นพอจำความได้ เห็นหลานรักเสียชีวิตด้วยโรคคอตีบ
“หลานที่อยู่มาด้วยกัน อีกสามวันเขาเป็นโรคคอตีบตาย ตายเพราะโรคที่มันรักษาได้ แต่รักษากันไม่ทัน ระบบสาธารณสุขเรามีปัญหา ผมเลยตัดสินใจเรียนหมอ”
หมอแหยง สู้ตาย อ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำกระทั่งสามารถเข้าแพทยศาสตร์ ม. ขอนแก่นได้ หลังจากนั้น จึงเข้ารับราชการเป็นหมอประจำชุมชน ระหว่างนั้นได้ศึกษาระดับปริญญาโท คณะสาธารณสุขศาสตร์ จากประเทศเบลเยียม จากนั้น ได้ศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
“วันแรกที่ทำงานเป็นหมอเต็มตัว ผมแทบจะเป็นลม คนไข้มาที่โรงพยาบาลวันละ 200 คน แต่ด้วยความเป็นหมอ จะให้กลับบ้าน มันก็ขัดใจผม เรามาตรงนี้ อยากจะช่วยเหลือคน ผมก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ สิ่งที่ผมเจอนอกจากคนไข้จะมาก หมอไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ตรงนี้ เรามีแรง เรามีพลัง ยังพอช่วยเหลือกันได้ แต่มันมีอีกปัญหา ซึ่งผมไม่สามารถแก้ไขได้ คือ คนไข้ เขาไม่มีเงินมากพอ ในการจ่ายค่ารักษา ตรงนี้ผมไปคุยกับแพทย์อีกท่านหนึ่ง ชื่อ นายแพทย์สงวน”
“สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” คือชื่อของนายแพทย์ ซึ่งหมอแหยงเข้าไปคุยด้วย หมอไฟแรง 2 คน หาทางปฏิรูปวงการสาธารณสุขไทย ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการรักษา ในราคาที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้กรอบของการบริการสาธารณะ มันต้องมีการจัดแบ่งงบรายหัวต่อคนไทย เพื่อรักษาพยาบาล ถ้าคนแข็งแรง ประเทศก็แข็งแรง
เรานำไอเดียของเราตรงนี้ไปเสนอรัฐบาลคุณชวน เขาไม่ตอบรับ แต่อีกรัฐบาลเขาตอบรับ เลยกลายเป็นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมภูมิใจกับการริเริ่มของผมกับเพื่อนหมอ
จากนั้น หมอแหยงยังทำงานในจังหวัด เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข
“ท่านอนุทิน ตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีช่วย ท่านลงมาคุยกับผมเกี่ยวกับการพัฒนาสาธารณสุขไทย เกี่ยวกับโครงการจิตอาสา อาสาสมัคร สาธารณสุข หรือ อสม. ในฐานะที่ผมทำงานด้านนั้นอยู่ ท่านให้ความสำคัญกับงานของผม และท่านก็เอาจริงเอาจังในการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัย การรักษาพยาบาล ผมประทับใจท่านนับตั้งแต่วันนั้น”
หมอแหยงเล่าให้ฟัง เมื่อครั้งได้รู้จักกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
อาชีพหมอ ในกระทรวงสาธารณสุข สำหรับ “หมอแหยง” ยังไม่ใช่ที่สุดของความปรารถนา เมื่อหมอแหยงพบว่า พลังการเมืองสามารถขับเคลื่อน “ไอเดีย” ให้กลายเป็น “รูปธรรม” ได้จริง และหมอแหยง ก็มีแนวทางพัฒนาระบบสาธารณสุขโคราชอยู่ในหัวมากมาย จึงถึงเวลาที่หมอแหยง จะเข้าไปกำกับการเมือง
ที่สุดแล้วหมอแหยงลาออกจากการเป็นข้าราชการ และลงสมัครเป็นนายกอบจ.นครราชสีมา ก่อนคว้าชัยคะแนนทิ้งคู่แข่ง 301,841 คะแนน
ทว่าในโลกของการเมือง ต้องยอมรับว่าแตกต่างจากโลกของข้าราชการราวฟ้ากับเหว “หมอแหยง” มิอาจทานเล่ห์เหลี่ยมได้ แม้จะทำงาน จนชาวบ้านยอมรับในความสามารถ เนรมิตท้องฟ้าจำลองโคราช จนเสร็จ เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียน โดดเด่นในเรื่องของความเป็นคนใจซื่อ มือสะอาด แต่ที่สุดแล้ว เมื่อวงวารการเมืองบางส่วนไม่ต้อนรับ จึงหมดหนทางที่จะกลับเข้ามาเป็นนายกอบจ. ในสมัยที่ 2
“ตอนนั้น เล่นกันทุกทาง ผมเองก็ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ มีการแจกใบปลิวทำลายชื่อเสียงผมย่อยยับ บอกว่าไม่ต้อนรับการทำงานแหยงๆ มันคืออะไร ผมไม่ทราบ แต่มันทำลายผม และจับไม่ได้ว่าใครทำ แถมคนที่เคยบอกว่าอยู่ข้างผม จะช่วยผม เอาเข้าจริง กลับไปช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ครั้นพอผมจะแก้มือ ก็มียึดอำนาจ … แต่ผมเชื่อว่าเวรกรรมมีจริง”
วันนี้ “หมอแหยง” ยังโดดเด่นในวงการแพทย์ และวงการเมือง เพราะนอกจากเป็นที่รักในหมู่ของ อสม. แล้ว ยังเป็น 1 ในทีมยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย
สาเหตุที่ทำให้ “หมอแหยง” เลือกพรรคนี้ ขณะที่มีคนจีบหมอแหยงมากมาย ต้องย้อนกลับไปในวันที่หมอแหยง ยังรับราชการ
“ท่านอนุทิน ตอนนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีช่วย ท่านลงมาคุยกับผมเกี่ยวกับการพัฒนาสาธารณสุขไทย เกี่ยวกับ อสม. ในฐานะที่ผมทำงานด้านนั้นอยู่ ท่านให้ความสำคัญกับงานของผม และท่านก็เอาจริงเอาจังในการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัย การรักษาพยาบาล ผมประทำใจท่านนับตั้งแต่วันนั้น”
แนวทางที่หมอแหยงเสนอพรรคคือเรื่องของ “หมอครอบครัว”
“คนไข้แทบทุกคนต้องไปโรงพยาบาลที่อยู่ในตัวเมือง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนไข้เดินทางไกล รอนาน เหนื่อยล้า สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หมอก็หมดแรง รับคนไข้วันละเป็น 100 คน การวินิจฉัย การรักษาโรค ไม่มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขเคยคุยเรื่องนี้แล้ว
เรามีแผน หนึ่งในนั้นคือการสกัดผู้ป่วย ให้อยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งยกระดับมาจากสถานีอนามัยชุมชน
แต่ปัญหาคือ ไม่มีหมอไปประจำที่นั่น แผนของกระทรวงสาธารณสุขเลยไม่ได้ผล สิ่งที่ควรจะทำคือ การมีทีมหมอครอบครัวไปประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ทีมหมอครอบครัวจะประกอบไปด้วยหมอ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ไอเดียตรงนี้ มีการปฏิบัติจริงแล้วที่ชุมชนบ้านศีรษะละเลิง ซึ่งสามารถสกัดผู้ป่วยได้ถึง 80% มีเพียงผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัด หรืออาการหนัก เป็นโรคที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น ถึงจะไปที่โรงพยาบาลในตัวเมือง อย่างโรงพยาบาลมหาราช
แต่ประเด็นคือ ถึงจะมีโมเดล แต่ถ้าหมอไม่ย้ายมาทำงานนอกตัวเมือง โมเดล ก็จะเป็นแค่โมเดลต่อไป
เรื่องแบบนี้ มันเห็นประสิทธิภาพ แต่มันต้องให้การเมืองช่วยเหลือออกเป็นกฎหมาย หาทางให้หมอออกไปสู่ชุมชนให้มากขึ้น”
เราถามหมอแหยงว่าทำไมต้องให้การเมืองเข้าช่วย
หมอแหยงตอบทันทีว่า ในอดีตโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามันอยู่ในหัว มันอยู่ในเอกสาร มีแต่คนบอกว่ามันทำไม่ได้ แต่เมื่อวันหนึ่ง มีฝ่ายการเมืองนำไปทำ มันกลับสำเร็จเฉย
ดังนั้น ถ้าการเมืองมาช่วย ทำไมโปรเจค “หมอครอบครัว” จะเกิดขึ้นไม่ได้
ชัดเจนว่า ความหวังของหมอแหยง อยู่ที่ความสำเร็จของพรรค “ภูมิใจไทย”