หน้าแรก Article “ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์” เมื่อ “ลูกอีสาน” เรียกคืนศักดิ์ศรี

“ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์” เมื่อ “ลูกอีสาน” เรียกคืนศักดิ์ศรี

0
“ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์” เมื่อ “ลูกอีสาน” เรียกคืนศักดิ์ศรี
Sharing

คอหนังยินดีกันถ้วนหน้า เพราะที่สุดแล้วภาพยนตร์ “ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ 2.2” สามารถฝ่าด่านอรหันต์ ได้กำหนดฉายๆเร็วนี้

สำหรับภาพยนตร์ ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ เป็นภาพยนตร์ตลก ออกฉายปี 2560 นำเสนอเรื่องราวชีวิตสไตล์ไทบ้าน หรือวัยรุ่นตามชนบท ที่ไร้ซึ่งความทะเยอทะยาน เน้นหาความสุขจากสิ่งรอบกาย

ผ่านการนำเสนอของ “จ่าลอด” ผู้บ่าวลูกหลานชาวนาที่ชีวิตนี้ หาแก่นสารอันใดมิได้ เช่นกันกับ “บักเซียง” เพื่อนจ่าลอด

และ “ป่อง” นักเรียนจบใหม่ มีความคิดทำธุรกิจที่บ้านเกิด นี่คือตัวแทนความคิดแบบคนเมือง ซึ่งร่วมในวัฒนธรรมแบบไทบ้าน

ต้องยอมรับว่าผู้บ่าวไทบ้าน คือหนังสุดก๊ากแห่งปี

ทว่า หากดูในแก่นหนัง จะพบข้อคิดที่แฝงอยู่ โดยเฉพาะการตอบคำถามเรื่อง “ความสุขในชีวิต” ผ่านมิติของความรัก การทำงาน การใช้ชีวิต ที่นำเสนอโดยการเล่าเรื่องบน “ความเป็นอีสาน” แบบ 100%

หากย้อนกลับไป นับว่าผู้อำนวยการสร้าง หรือ “ดร.โต้ง – สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” มีความกล้ามาก

เนื่องจาก หนังที่ประสบความสำเร็จในตลาด 90% ล้วนมาจากค่ายกรุงเทพ สะท้อนคติ แนวคิด ลีลา คุณค่าแบบไทยกรุงเทพ ที่ยอมรับโดยดุษฎีว่าเป็นวัฒนธรรม Mainstream ในสังคม อาทิ

“ความสุข มาจากความสำเร็จ เกิดจากความพยายาม”

แต่ … ทั้งหมดนี้ ไม่ปรากฏในเรื่องผู้บ่าวไทบ้าน ที่มองว่า ความสุขมีที่มาอันหลากหลาย และสมควรหาได้ง่าย ใกล้ตัว เงิน ความรุ่มรวย หาใช่ความสุขเสมอไป

ดร.โต้ง – สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

อย่างไรก็ตาม ความกล้าของ ดร.โต้ง สัมฤทธิ์ผล ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์ สามารถกวาดรายได้ถึง 55 ล้านบาท ผลตอบรับคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

เพราะ “ดร.โต้ง” เองไม่เคยคาดหวังผลกำไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้ การลงทุนเป็นไปเพื่อสนองความอยากให้อัตลักษณ์ความเป็นอีสานได้แทรกตัวไปในการรับรู้ของคนไทย

เนื่องจากตัว ดร.โต้ง คือเลือดเนื้อ “ศรีสะเกษ” อีสานพันธุ์แท้ พ่อแม่ให้มา

ดร.โต้ง ให้สัมภาษณ์ผ่าน PPTV ว่า

“หนังเรื่องนี้เกิดจากเด็กกลุ่มเล็ก ๆ จำนวน 3- 4 คน ที่ชื่นชอบในการทำภาพยนตร์ เขารวมกันมาคุยว่าอยากจะทำซีรีส์ ของคนอีสาน โดยอยากจะใช้เงินประมาณก้อนหนึ่ง

จึงไปลงขันกันทำทีเซอร์มาให้ตนดูก่อน แล้วตนก็เห็นว่าเนื้อหาน่าสนใจ จึงช่วยหาสปอนเซอร์ แต่ในช่วงนั้นหาไม่ได้ น้องเขาก็บอกว่ามีรายอื่นเสนอมาว่าจะเป็นสปอนเซอร์ให้ แต่ต้องไปทำหนังที่ขายสินค้าให้กับเขา น้อง ๆ จึงไม่อยากทำ เพราะไม่ใช่แนวทาง

ตนจึงลองถามว่าถ้ามีเงินสัก 2 ล้านบาท ให้ไปทำ จะเอาไปทำหรือไม่ น้อง บอกว่า 2 ล้านบาท ก็จะสู้ ตนจึงให้เงินไปลองทำหนังดู”

ความนิยมของภาพยนตร์เรื่องไทบ้าน ที่กระจายไปทั่วประเทศ สะท้อนว่า มีประชากรคนอีสาน ฝังตัวอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย  การได้รับชมภาพยนตร์  เสมือนได้รำลึกตัวตนกาลครั้งหนึ่งฉันเป็นใคร สนองความคิดฮอดบ้านเกิดได้มากโข

ทั้งนี้ การที่ภาพยนตร์ มีกระแสตอบรับดีจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งที่หนังแทบไม่เปิดพื้นที่ให้วัฒนธรรมภาคอื่นได้เข้ามาซึมแทรก เพราะต้องการต้องการสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานอย่างเต็มที่ ในเวลาที่มีจำกัด

และการที่คำคมภาษาอีสานมากมาย ซึ่งอยู่ในหนัง ถูกนำมา “ผลิตซ้ำ” ผ่าน  ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค อาทิ

“เจ้าเอิ้นว่าความฮักได้จั่งได๋ฮึ ในเมื่อเจ้าฮ้องไห้มากกว่ายิ้ม”

“คั้นบ่ฮักอย่าให้ความหวัง เพราะคนที่หวังอย่างกุมันเจ็บ”

ที่พิมพ์ยากแสนยาก

สะท้อนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ มิได้ให้เพียงความสุขแก่คนอีสาน คนกลุ่มไทบ้าน

แต่ภาพยนตร์ของ “ดร.โต้ง” กำลังคืนตัวตนคนกลุ่มดังกล่าว ให้ประทับอยู่ในการรับรู้ของคนไทย ในฐานะวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งขึ้นมามีพื้นที่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก

เป็นการคืน “ศักดิ์ศรี” ให้กับคนอีสานทุกคนบนโลกใบนี้

 

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่