ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา และ ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการประจำวิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต ให้ความเห็น ประมวลภาพความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง ไว้ดังนี้
พรรคพลังประชารัฐ ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวว่า หากจะพูดถึงพรรคพลังประชารัฐ เลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงรัฐบาล เพราะถือเป็นเนื้อเดียวกัน ในส่วนของรัฐบาล ปี 2561 เป็นปีที่เหน็ดเหนื่อย เพราะต้องไปเลือกตั้งบนความไม่พร้อม โดยเฉพาะในเรื่องของผลงานที่มีการตั้งข้อสงสัยกันมาก แม้เพิ่งระดมทุนช่วยประชาชน แต่ก็ถูกโจมตีเรื่องประชานิยม ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเคยตั้งแง่กับรูปแบบการช่วยเหลือในลักษณะนี้ แต่เข้าใจได้ว่า การลด แลก แจก แถม เป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ หากต้องการกลับมาชนะเลือกตั้ง
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ผศ.วันวิชิต ให้ความเห็นว่า เป็นปีแห่งการดิ้นรน และลาจาก ด้วยแรงปะทะจากฝ่ายตรงข้าม พรรคเพื่อไทย ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาตัวรอด รวมไปถึงการที่ให้สมาชิกหลายคนออกไปทำพรรคการเมือง แม้จะเป็นพรรคสาขา แต่สภาพก็เหมือนบ้านแตก จากที่เคยอยู่บ้านเดียวกัน ต้องแยกไปทำงานที่อื่น ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมชม แม้ในสถานการณ์วิกฤติพรรคก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.โอฬาร ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีการบริหารจัดการดีที่สุด ทั้งนี้ กระแสของพรรคที่ยังมีอยู่มาก ส่วนหนึ่ง เพราะคู่ขัดแย้ง ไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีกว่า คนจึงหวนไปคิดถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร
พรรคประชาธิปัตย์ ผศ.โอฬาร ให้ความเห็นว่า เป็นจุดเริ่มต้นสู่ยุคแห่งความถดถอย และเปลี่ยนผ่าน เพราะภายในพรรคมีการแตกแยกกันสูงมาก ชัยชนะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีต่อนายแพทย์วรงค์ คือความพ่ายแพ้ทางการเมือง เพราะนายอภิสิทธิ์ เป็นถึงอดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรค ต้องชนะอย่างขาดลอย แต่นี่กลับเฉือนชนะเป็นหลักพันคะแนน จากนี้ ต้องดูว่าผลการเลือกตั้งจะพาพรรคประชาธิปัตย์เดินไปในทิศทางไหน ถ้าหากนายอภิสิทธิ์ นำพรรคสู่ความพ่ายแพ้แบบสู้ไม่ได้อีกครั้ง พรรคจะเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะดีขึ้น หรือจะแย่ลง ด้าน ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสภาวะคลุมเครือมาโดยตลอด ถึงวันนี้ ยังไม่ทราบว่าจะมีทิศทางการเดินหน้าอย่างไร และความไม่ชัดเจนนี้จะดำรงอยู่ต่อไป จนกระทั่งสิ้นสุดการเลือกตั้ง
ต่อทีพรรคภูมิใจไทย ผศ.วันวิชิต ให้ความเห็นว่า เป็นปีแห่งการก้าวไปข้างหน้า ค่อยๆเก็บแต้มจากประชาชนที่อยู่ตรงกลาง ด้วยการชูนโยบายเป็นธงนำ ถือเป็นการทำการเมืองในรูปแบบใหม่ ซึ่งประชาชนกำลังโหยหา ขณะที่ ผศ.ดร.โอฬาร ให้ความเห็นว่า พรรคภูมิใจไทย ได้ถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งปี 2554 และทราบดีว่า ควรจะวางตัวทางการเมืองอย่างไร เพื่อให้ได้รับความนิยมจากประชาชน ทั้งนี้ สิ่งที่หวังจากพรรคภูมิใจไทยคือ การทำพรรคการเมืองในระยะยาว เมื่อเชื่อมั่นในนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง ก็ต้องยึดถือแนวทางดังกล่าว เพื่อสร้างพรรคให้เป็นสถาบัน ในเรื่องของจุดยืนนั้น การตั้งมั่น ทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน ถือเป็นจุดยืนเหมือนกัน จงอย่าไปคิดว่าจุดยืนมีเพียงเผด็จการ หรือประชาธิปไตย เพราะในความเป็นจริง มันยังมีคนที่ยืนตรงกลางอีกมากที่รอเลือกพรรคภูมิใจไทย
“อีกหนึ่งจุดเด่นของพรรค คือ หัวหน้าพรรค หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่ารวยมหาศาล แต่มีการใช้ชีวิตที่ติดดิน มีความนอบน้อม ทั้งที่ฉลาด ผ่านการบริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่คนไทยชอบ และมีความคล้ายกับคุณทักษิณ เมื่อครั้งเริ่มทำงานการเมืองมาก” ผศ.ดร.โอฬาร ระบุ
ด้าน ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า นายอนุทิน มีความสามารถด้านธุรกิจมาเป็นระยะเวลายาวนาน จุดนี้พิสูจน์ความสามารถด้านการบริหาร และการหาเงินเข้าองค์กร การกระปององค์กร ซึ่งสอดรับกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการได้ผู้นำที่เก่ง แต่สำหรับคนไทย นอกจากเก่งแล้ว ต้องนอบน้อม เหมือนรวงข้าว ซึ่งนายอนุทิน มีคุณสมบัติเหล่านี้ ครบถ้วน
สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า เป็นพรรคที่เปิดตัวมาดี มีลักษณะที่สามารถเป็นความหวังของสังคมได้ แต่เพราะการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่สุดแล้ว จึงถูกมองว่าขายฝันมากกว่า อย่างไรเสีย ขอเป็นกำลังใจให้กับคนรุ่นใหม่ทุกคนที่เข้ามาทำงานการเมือง ขณะ ผศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า ปี 61 สำหรับพรรคอนาคตใหม่ เป็นปีแห่งความฉาบฉวย เท่านั้น เชื่อว่าที่สุดแล้ว ด้วยความใหม่ และด้วยอุปสรรคทางการเมืองที่พรรคต้องประสบต่อจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ น่าจะได้เสียงเข้ามาในสภาไม่เกิน 5 เสียง