ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตของคนไทยถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป น่าสงสัยว่าความทันสมัยดังกล่าว มอบประโยชน์ให้ใครมากที่สุด ตรงนี้เป็นจุดที่พรรคการเมือง จำเป็นต้องคิดเพื่อดึงศักยภาพของเทคโนโลยีอันทันสมัย มารับใช้ประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
นับเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ “ภูมิใจไทย” ที่มีพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช.กุมบังเหียนทีมยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล
สำหรับ “พี่มาร์ช” การตีโจทย์นี้มิใช่เพียงการคิดได้ แต่ต้องทำได้ และต้องทำได้จริง ทำได้เลย อันเป็นคำพูดติดปากของ “พี่หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค
ในความเป็นจริง “พี่ทั้ง 2” คุยเรื่องนี้ และอยากทำให้สำเร็จมานานแล้ว การคุยกันอย่างถูกคอระหว่าง “พี่หนู” กับ “พี่มาร์ช” เป็นเหตุให้ ฝ่ายหลังตกลงร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทยแบบหักปากกาเซียน เพราะหากย้อนอ่านไลน์อาชีพของ “พี่มาร์ช” ต้องบอกว่ามีลุ้นถึงประธาน กสทช.
อย่างไรก็ตาม สำหรับพี่ “มาร์ช” ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องนำสิ่งที่อยู่ในหัวมาปรัชใช้จริง
ครั้งหนึ่ง “พี่มาร์ช” เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ Ringsideการเมือง ว่า
“ในตำแหน่งที่ผมเคยอยู่ ผมมีหน้าที่กำหนดนโยบาย กระจายคลื่นความถี่ แต่เมื่อไปถึงตัวผู้ให้บริการ ผมไปควบคุมเขาไม่ได้ เขาจะไปทำอะไรมันเป็นสิทธิ์ของเขา ทั้งที่สิ่งที่เราให้เขาไป มันน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ผมคิดไปไกลกว่าเรื่องกำไร ขาดทุน แต่ผมคิดว่ามันจะช่วยประชาชนอย่างไรบ้าง ทำให้ผมต้องลงมาทำงานการเมือง เพื่อทำในสิ่งที่ผมอยากทำ”
และทันทีที่พรรคภูมิใจไทยได้พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มาร่วมงาน สังคมก็ได้พบกับความคึกคักของแนวคิดต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมาจากพรรค ที่มั่นใจได้เลยว่ามี “พี่มาร์ช” ช่วยคิดอยู่เบื้องหลัง
เริ่มจากการสนับสนุนให้ GRAB กลายเป็นบริการที่ถูกกฎหมาย หนุนธุรกิจ Sharing Economy ให้เกิดได้จริงในประเทศไทย พร้อมกับเป็นการส่งเสริมธุรกิจ Startup ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ ที่เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ซึ่งพรรคเชื่อว่าจะไม่กระทบฐานเสียงกลุ่มแท็กซี่ เนื่องจากกลุ่มรถสาธารณะ สามารถเป็น GRAB ได้ ด้วยปัจจัยที่ง่ายกว่ากลุ่มที่นำรถส่วนตัวมาวิ่ง ซึ่งอาจต้องไปจดทะเบียนกันใหม่ ปรับสภาพรถกันใหม่ ให้เป็นไปตามกฎกรอบกำหนด
จากนั้นภูมิใจไทย มีนโยบายด้านการเกษตรที่สำคัญคือ Profit Sharing ข้าว
ทีมยุทธศาสตร์ของพรรค หวังให้ภาคการเกษตรของไทยเข้าถึงข้อมูลตลาดข้าวของโลก เพื่อกำหนดการปลูกในแต่ละปี ให้การลงทุน ลงแรง เมื่อนำมาขายเป็นข้าวสาร และข้าวถุงแล้ว จะได้กำไรอย่างสูงสุด หลังจากนั้น จะนำกำไรดังกล่าวแบ่งคืนให้ชาวนา
การกำหนดราคาล่วงหน้า จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่แม่นยำมาก อย่างไรก็ตาม การมี BIG DATA จะช่วยให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย
และล่าสุด คือแนวคิดเรื่องการเรียน และทำงานที่บ้าน ผ่านระบบจัดการออนไลน์ ที่ทางภูมิใจไทย หวังเห็นทุกภาคส่วนบูรณาการเทคโนโลยีทั้งหลาย ลดข้อจำกัดเรื่องการเรียน การทำงาน และการสาธารณสุข(เทเลเมด) ผ่านการจัดการทรัพยากรคน ออกกฎหมายให้ทันสมัย สอดรับกับการเข้ามาของระบบ 5G
แนวความคิดดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากนอกจากแก้กฎหมายแล้ว ยังต้องแก้ชุดความคิดของคนไทย ที่ให้คุณค่ากับคนมาเช้ากลับช้า มากกว่าวัดค่าที่ผลงาน
อย่างไรก็ตาม หากสามารถทำให้การทำงานออนไลน์ และการเรียนออนไลน์ เป็นวิถีของคนไทยยุคดิจิทัลได้จริง จะช่วยลดปัญหาเรื่องการเดินทาง คนไทยจะมีความสุขในการเรียน และการทำงาน มากยิ่งขึ้น ชาติจะนำเข้าน้ำมันน้อยลง เพราะคนไทยเดินทางน้อย คนไทยจะมีเวลามากขึ้น อาจจะรวมถึงเวลาสันทนาการ ออกกำลังกาย ลดปัญหาสุขภาพ
ทั้งนี้ แม้จะบอกว่าเป็น MISSION ที่ยาก แต่เมื่อศึกษาประวัติของพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ซูเปอร์ดิจิทัลแมน” หนึ่งในทีมผู้บุกเบิกระบบ 3G และ 4G ในเมืองไทย และหากย้อนอ่านประวัติ “พี่หนู” ชายผู้กอบกู้กิจการจากล้มละลายนับพันล้าน ให้พลิกมาเป็นกำไรใน 3 ปี ยิ่งเมื่อหันมามมองที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นอกจากจะไม่ตะบันน้ำกิน ยังกลายเป็นมหานครแห่งกีฬาระดับโลก
อะไรก็ตามที่อยู่ในความคิดของ “คนภูมิใจไทย” ล้วนเป็นไปได้ ทั้งสิ้น
Ringsideการเมือง