พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาจดสิทธิบัตรกัญชา โดยเปิดช่องให้ศึกษาและวิจัย ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ประกอบกับ คสช. ได้รับรายงานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงปัญหาของกระบวนการด้านสิทธิบัตร ที่ได้มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามกฎหมาย ว่าด้วยสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจำนวนหนึ่งไว้อยู่ก่อนแล้ว
จึงออกคำสั่งเปิดทางให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา สั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร หรือสั่งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตร ตัดข้อถือสิทธิที่เป็นการประดิษฐ์ดังกล่าวภายใน 90 วัน หากปรากฏว่าคำขอนั้นไม่ชอบ และคำสั่งขอยกเลิกรับสิทธิบัตรของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ขอรับสิทธิบัตร อาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 เรื่องการสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาว่า เพื่อครอบคลุมและแก้ไขปัญหาของการยื่นขอจดสิทธิบัตร โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ ในการประกอบธุรกิจหรือการผลิตที่มีสารสกัดเกี่ยวกับกัญชา โดยทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาในการยกเลิก 7-8 บริษัท ที่มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรให้เร็วที่สุด
ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กระทรวงสารณสุขไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิบัตร ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเรื่องนี้จะไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลนั้น คิดว่ารัฐบาลก็คงดูมาอย่างดีที่สุดแล้ว นายกรัฐมนตรีก่อนออกประกาศก็ดูด้วยความรอบคอบ เพราะที่จริงแล้วตั้งแต่การรับคำขอสิทธิบัตรกัญชานั้นผิดกฎหมายประเทศไทยตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่ที่ออกมาก็เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่ง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นเรื่องกัญชา ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “กับดักอำนาจกัญชา” กับการลาออกของ 4 กุมารทองฯ
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ได้แสดงความจริงใจสั่งการไปยังอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ยกคำขอสิทธิบัตรฯไปแล้ว แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ก็ได้ลาออกไปด้วย เพื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งต่อไป แต่อำนาจหนึ่งที่สำคัญในการถือไม้เรียวที่สำคัญหลังการสั่งการ คืออำนาจ “โยกย้าย” ข้าราชการ
แต่เมื่อ รมว.พาณิชย์ ลาออกไป แถมไม่มีปรับ ครม.ไม่มีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาแทนด้วย ก็จะไม่มีใครทำอะไรอธิบดีได้จริงหรือไม่? ไม่อยากให้ใคร มองโลกร้ายเกินไปว่า ที่ไม่ปรับ ครม.เพราะด้วยเหตุผลนี้ แต่เกือบลืมไป
ตอนนี้ยังมี รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กำกับดูแล กระทรวงพาณิชย์แทนอยู่
สมคิด จาตุศรพิทักษ์ รองนายกฯท่านนี้ คือผู้ยื่นเสนอเพื่อทราบต่อ ครม.เมื่อ ก.ค.2559 เพื่อทราบในการสั่งการเพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งรัดสิทธิบัตรให้กับการเรียกร้องของกลุ่มทุนญี่ปุ่น ที่ รองนายก สมคิด และคณะเดินทางไปเยี่ยมบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นเมื่อกลางปี 2559 และการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ไปพร้อมกับ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ ได้พบ 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งรวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล” ด้วย
“โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล” ก็คือ บริษัทที่ร่วมกับ จี ดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา รัฐบาลบิ๊กตู่ ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรให้กับกลุ่มบริษัทเดียวกันนี้ถึง 6 ฉบับ โครงสร้างอำนาจเช่นนี้ จึงน่าติดตามต่อไปว่าอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำอย่างไร ต่อไป