ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารพรรค แกนนำและสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นเอกสารรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทษช.
โดยบรรดาแกนนำทยอยเดินทางมารอตั้งแต่เวลา 08.30 น. จากนั้นบรรยากาศเริ่มเกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้นเมื่อ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคเดินทางมาถึงพร้อมซองเอกสาร บรรดาสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติต่างกว่า 100 ชีวิต ต่างกรูกันเข้าไปรุมล้อมถ่ายภาพและขอสัมภาษณ์
โดย ร.ท.ปรีชาพลพร้อมคณะเข้าไปยื่นเอกสารเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที
ผู้สื่อข่าวรายว่า พรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นบัญชีรายชื่อต่อ กกต. โดยมีการเปิดภาพเป็นภาพทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โดยได้ยื่นให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพ ซึ่งเป็นภาพของทูลกระหม่อมหญิงฯ อุบลรัตน์ อยู่บนใบเสนอรายชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ของพรรค
อีกด้านหนึ่ง จากกรณี นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ในสถานการณ์ให้ประเทศเดินไปข้างหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแสดงเจตนารมณ์ของผมที่อยากเห็นการบริหารชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายในทุกๆ ด้าน
ให้มีความต่อเนื่อง ราบรื่น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ดังนั้นผมขอใช้โอกาสนี้ประกาศสนับสนุนให้เสนอท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทนของพรรคเพียงรายชื่อเดียวในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ล่าสุด วันที่ 8 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ปล่อยแถลงการณ์ ตอบรับคำเชิญ “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นแคนดิเคตนายกฯ แล้วเช่นกัน
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธทุกคำถามจากสื่อมวลชน ภายหลังจากพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรค
เมื่อถามถึงความเหมาะสมและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นายวิษณุ กล่าวว่า “ขอไม่ตอบ และไม่มีความเห็น หากผมตอบได้ ผมตอบไปแล้ว แต่นี่ผมตอบไม่ได้”
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้พิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติว่าเข้าข่ายขัดต่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ. ศ. 2561 หมวด 4 ลักษณะในการต้องห้ามการหาเสียงเลือกตั้งข้อ 17
นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า หลังจากได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชน ว่าพรรคไทยรักษาชาติ มีมติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ของพรรคไทยรักษาชาติ จึงมีความเห็นว่าแม้นทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ จะทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้ว แต่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงเป็นพระเชษฐภคินีพระองค์เดียวของในหลวงรัชกาลที่ 10 ดังนั้นทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 5 บัญญัติไว้
ดังนั้นการที่พรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นเสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ในบัญชีนายกรัฐมนตรี ย่อมต้องมีการนำพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคไทยรักษาชาติอันเป็นการเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งข้อที่ 17 คือ “ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง”
นายไพบูลย์จึงมีความประสงค์ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติว่าเข้าข่ายขัดต่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่หากมีปัญหาข้อขัดข้องจึงอยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้พรรคไทยรักษาชาติระงับการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ
ในมุมมองของนักวิชาการ รศ.ดร.ธีรวิทย์ ภิญโญณัฐกานต์ นักวิชาการอิสระ จ.นครราชสีมา ได้ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์เลือกตั้งปี 2562 ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศไทยที่สำคัญมากๆหลังจากนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศชาติมีความสงบร่มเย็นลง ทั้งการร้อนแรงทางทางการเมือง การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น และการหักเหลี่ยมโค่นล่มฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น น่าจะลดน้อยลงไป จะทำให้เกิดสันติภาพ ความสงบสุข ความสามัคคีกลมเกลียวกันในประเทศมากกว่าเดิม จึงน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศแน่นอน
ขอบคุณ :
ข่าวสด
มติชน
ผู้จัดการ