จากกรณีที่มีข้อสงสัยถึงอนาคตของพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากเหตุการณ์ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาปรากฎว่า กกต. ไม่รับรองแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ล่าสุด
แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า นักกฎหมายจับตามองการใช้ พรป.พรรคการเมืองมาตรา 92-93 ที่ห้ามกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายมาตรานี้มาเอาผิด อาจจะมีอุปสรรคในเรื่องของการสืบหาข้อมูล
ดังนั้น ข้อกฎหมายที่ต้องจับตามองน่าจะเป็นมาตรา 28-29 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ปล่อยให้ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกเข้าครอบงำในกิจการของพรรค ที่บัญญัติว่า
“ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิก กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมวนมาตรา 29 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”
แหล่งข่าวท่านเดียวกันกล่าวต่อว่า เราเรียกกันว่ากฎหมายฮั้ว หากหาความเชื่อมโยงระหว่างพรรคไทยรักษาชาติ กับเพื่อไทย ว่าถูกครอบงำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกได้ และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน สามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้ทันที อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจหาความเชื่อมโยง ก็มีโอกาสสูงที่ฝ่ายเพื่อไทยจะย้อนศรคืนพรรคพลังประชารัฐ ว่าถูกครอบงำโดยคนนอกเช่นกัน
ล่าสุด โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) หรือ iLaw เผยแพร่บทความ “หลักเกณฑ์ที่จะทำให้พรรคการเมืองถูกสั่งยุบพรรคได้” มีดังนี้
1. ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (1))
2. มีจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองน้อยกว่า 5,000 ติดต่อกันเป็นเวลา 90 วัน หลังจดทะเบียนพรรคการเมืองได้ 1 ปี (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (2))
3. มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคน้อยกว่า 1 สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (3))
4. ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (4))
5. ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (5))
6. มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (6))
7. พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (7))
8. กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(1))
9. กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(2))
10. พรรคการเมืองดำเนินกิจการลักษณะหากำไรมาแบ่งปันกัน (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 20)
11. ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรค ควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 28)
12. ให้เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้สมัครเข้าเป็นสมาชิก (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 30)
13. จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนประจำจังหวัดนอกราชอาณาจักร (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 36)
14. รับบริจาคเพื่อสนับสนุนการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 44)
15. ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทําการอันเป็นการทําลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 45)
16. เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น เพื่อให้บุคคลอื่นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือในหน่วยงานของรัฐ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 46)
17. รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 72)
18. รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น จากผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย บริษัทต่างชาติ คณะบุคคลที่ได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92(3), 74)
19. ถ้าพรรคการเมืองเป็นผู้กล่าวหาพรรคการเมืองอื่นว่า กระทำความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นการกล่าวหาที่เป็นความเท็จ (กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 101)
20. หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ได้ยับยั้ง กรณีที่มีผู้สมัครทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม (กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 133 วรรคสาม)
21. เรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นได้เพื่อส่งผู้สมัคร หรือไม่ส่งผู้สมัคร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต (กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 75, 158)
การพิจารณายุบพรรคการเมืองนั้น จะเป็นหน้าที่ขององค์กรสององค์กรได้แก่ หนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้วินิจฉัย ในกรณีที่พรรคดำเนินการขัดต่อหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 ถึง 7 กับ สอง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ในกรณีที่พรรคดำเนินการขัดต่อหลักเกณฑ์ตามข้อ 8 ถึง 21 ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย โดยไม่ได้กำหนดเวลาว่าให้ตัดสิทธิเป็นเวลานานเท่าใด
นอกจากนี้ หากพรรคการเมืองใดถูกยุบพรรค ให้คณะกรรมบริหารพรรคที่ถูกยุบห้ามไปจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมในการจัดพรรคใหม่ ภายในเวลา 10 ปี หลังวันที่มีคำสั่งยุบพรรค