พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นหนังสือคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาและมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากการที่ พปชร.เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค และต่อมา กกต.ได้ประกาศรับรองรายชื่อ
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ พร้อมทั้งได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งพฤติการณ์และการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้น การที่ พปชร.เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 มาตรา 92(2) จึงขอให้ กกต. พิจารณาและมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวน เพื่อยุบพรรคพลังประชารัฐ โดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับการเสนอยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า กกต. ควรใช้เวลาไม่น่าเกิน 3-4 วัน หาก กกต.ไม่ดำเนินการอาจถูกดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้ยื่นหนังสือคำร้องต่อ กกต.เช่นกัน โดยขอให้ กกต. ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชารัฐในความผิด 3 กรณี คือ กรณีนายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่จะเป็นสมาชิกพรรค อาจเข้าข่ายการให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรค สองคือ กรณีพรรคพลังประชารัฐ จัดงานระดมทุนขายโต๊ะจีน ราคาโต๊ะละ 3 ล้านบาท เป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือไม่ และสุดท้ายคือกรณีพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่ยังเป็นหัวหน้า คสช. อาจเข้าข่ายการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายเรืองไกร ระบุอีกว่า กรณีการตีความเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติกกต.อาจมีการตีความเกินเลยมาตรา 92(2) ประกอบกับเมื่อดูจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ทำให้เชื่อว่ากรณีของพรรคไทยรักษาชาติศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง
ขอบคุณ VoiceTV